หาดสมิหลา แหลมสมิหลา เกาะหนู เกาะแมว

หาดสมิหลา สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงของสงขลา อยู่ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา หาดสมิหลามีโขดหินขนาดย่อมยื่นลงทะเล หาดทรายขาวละเอียดมากที่เรียกว่า “ทรายแก้ว” มีป่าสนร่มรื่น จาก หาดสมิหลา สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของ เกาะหนูเกาะแมว จนมีคำกล่าวว่าใครมาเยือนสงขลาแล้วไม่มาเยือนสมิหลาก็เหมือนมาไม่ถึงสงขลา

มีสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงรูปปั้น นางเงือกทอง โดยรอบบริเวณได้จัดสวนหย่อมไว้ดูร่มรื่นเหมาะเป็นที่นั่งพักผ่อนยามเย็น เมี่อมองออกไปในทะเลจะเห็น เกาะหนู เกาะแมวอันเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่ง หาดสมิหลาเป็นชายหาดที่มีบรรยากาศสงบ เหมาะสำหรับมาพักผ่อนชมวิว มีชายหาดต่อเนื่อง กัน เรียกว่าแหลมสนอ่อน อยู่เลยหาดสมิหลาไปทางตะวันตก ช่วงของแหลมสนอ่อนจะยาวไปจนถึงสันเขื่อนในทะเล

(ภาพของรูปปั้นเงือกสาว ผมยาวสลวยที่นั่งบีบมวยผมอยู่นี้ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของหาดสมิหลา ใครมาแล้วไม่มาถ่ายรูปถือว่ามาไม่ถึง)

หาดสมิหลา
สามารถสัญจรไปมาได้สะดวก ทั้งรถส่วนตัวและรถโดยสารขนาดเล็ก ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากอำเภอหาดใหญ่มากนัก (ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร) มีโรงแรมที่พักตั้งอยู่ที่บริเวณแหลมสมิหลา และบริเวณใกล้เคียงมากมาย มีร้านจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม และของที่ระลึก มีกิจกรรมทางน้ำมากมาย บานาน่าโบ๊ต เจ็ตสกี แล่นเรือใบนอกจากนี้ยังสามารถลง เล่นน้ำทะเลได้สะดวกเพราะ เป็นชายหาดที่ไม่ลาดชัน และจะมียามรักษาการณ์จากเทศบาลเมืองสงขลาคอยดูแลรักษาความปลอดภัย

นิยายนางเงือกทอง
นางเงือกทอง เป็นเรื่องในนิยายปรัมปราของไทยโบราณ ซึ่งขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) เป็นผู้เล่าไว้ ในวันดีคืนดี นางเงือกจะมานั่งหวีผมบนชายหาดด้วยหวีทองคำ กระทั่งวันหนึ่ง มีชายชาวประมงเดินผ่านมาทำให้นางเงือกตกใจ รีบหนี ลงทะเล ไปโดยลืมหวีทองคำไว้ ชาวประมงเห็นดังนั้น ก็เก็บหวีทองคำไว้และเฝ้าคอยนางเงือกที่หาดนั้นเสมอ แต่นางเงือกก็ไม่เคยปรากฏ กายให้เห็นอีกเลย สำหรับนางเงือกทอง ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 ในท่านั่งหวีผม หล่อขึ้นด้วยบรอนซ์รมดำ โดยฝีมือการออก แบบ ปั้น และหล่อ โดยอาจารย์จิตร บัวบุศย์ ด้วยเงิน 60,000 บาท(ในสมัยนั้น) โดยใช้เงินจากงบประมาณของเทศบาลสงขลา

ตำนานเกาะหนู เกาะแมว
มีพ่อค้าชาวจีนผู้หนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางมาค้าขายระหว่างจีนกับสงขลาเป็นประจำ วันหนึ่งพ่อค้าผู้นี้ได้ซื้อหมากับแมว ลงเรือไป เมืองจีนด้วย หมากับแมวอยู่บนเรือนานๆเกิดความเบื่อหน่ายจึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมากับแมวได้ทราบว่าพ่อค้ามีดวงแก้ว วิเศษที่ ทำให้ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบายโดยให้หนูไปขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามา และหนูขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ทั้งสามว่ายน้ำหนีลง จากเรือโดยที่หนูอมดวงแก้วเอาไว้ในปาก ขณะนั้นหนูนึกขึ้นได้ว่าถ้าถึงฝั่ง หมากับแมวคงจะแย่งเอาดวงแก้วไปจึงคิดที่จะหนี ฝ่ายแมวซึ่งว่ายตามหลังมาก็คิดเช่นกัน จึงว่ายน้ำรี่ไปหาหนู หนูตกใจว่ายน้ำหนีไม่ทันระวังตัว ดวงแก้ววิเศษที่อมไว้จึงตกลงจม หายไปในน้ำ หนูและแมวต่างก็หมดแรงจมน้ำตายกลายเป็นเกาะหนูเกาะแมวอยู่ที่อ่าวหน้าเมือง ส่วนหมาตะเกียกตะกายว่ายน้ำไป จนถึงฝั่งและสิ้นใจตายด้วยความเหน็ดเหนื่อยกลายเป็นหินบริเวณเขาตังกวนอยู่ริมอ่าวสงขลา ดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูแตก ละเอียดกลายเป็นหาดทรายแก้วอยู่ทางด้านเหนือของแหลมสน

เขาเก้าเส้ง ห่างจากหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางไปสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งแห่งชาติ มีตำนานเล่าถึงเขาเก้าเส้ง หรือที่เรียกกันในภาษาพื้นเมืองว่า หัวนายแรง ครั้งนั้นทางเมืองนครศรีธรรมราชกำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างก็นำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นนครศรีธรรมราชด้วย ประกอบกับนายแรงมีความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมากถึงเก้าแสนบรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งหาดทรายแห่งหนึ่ง เพื่อซ่อมแซมเรือ พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง สั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขา นายแรงกลั้นใจตาย ลูกเรือต้องจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง

เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า เขาเก้าแสน เรียกเพี้ยนไปเป็น เก้าเส้ง ก้อนหินที่ปิดทับบนยอดเขาเรียกว่า หัวนายแรง ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญานของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์มาจนทุกวันนี้