เกาะยอ – สงขลา

เกาะยอ เกาะเล็กๆในสงขลาเป็นตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองสงขลา มี “คำขวัญ” ประจำตำบล คือ สมเด็จเจ้าเป็นศรี ผ้าทอดีล้ำค่า นานาผลไม้หวาน ถิ่นอาหารทะเล เสน่ห์สะพานติณฯ สถาบันทักษิณลือนาม งดงามเรือนทรงไทย

เกาะยอมีสภาพเป็นเกาะอยู่กลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ห่างจากอำเภอเมืองทางบกประมาณ 20 กิโลเมตร ทางน้ำ 6 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อคือ

– ทิศเหนือ จดทะเลสาบสงขลา จดเขตสุขาภิบาลสิงหนคร อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
– ทิศใต้ จดทะเลสาบสงขลา จดเขต อบต.พะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
– ทิศตะวันออก จดทะเลสาบสงขลา จดเขต อบต.พะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
– ทิศตะวันตก จดทะเลสาบสงขลา จดเขต อบต.น้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ก่อนหน้านี้ การไปเกาะยอ เป็นเรื่องยากพอสมควร จนกระทั่งเมื่อสะพานติณสูลานนท์สร้างเสร็จ การเดินทางไป(เที่ยว)เกาะยอจึง “ง่าย” และกลายเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของสงขลา

ทุกวันนี้ ไปเกาะยอง่ายครับ ไม่ว่าจะมาจากทางไหนสิงหนคร หรือทางหาดใหญ่ เพราะมีสะพานติณณสูลานนท์ เป็นเส้นทางเข้าสู่เกาะ

เกาะยอ มีพื้นที่ประมาณ 9,275 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา เหมาะแก่การเกษตรกรรม บนเกาะยอจึงมีการทำสวนผลไม้แบบสุมรุม หมายถึงผลไม้จะผลัดกันให้ผลผลิตตลอดปี เช่น ส้มโอ มะพร้าว ขนุน

ผลไม้ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกาะยอคือจำปาดะ ซึ่งสามารถนำไปทอดเหมือนกล้วยแขก หรือจะกินเป็นผลไม้แบบขนุนก็ได้

นอกจากนั้น เกาะยอก็มี “ผ้าทอเกาะยอ” ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้นิยมสวมใส่ผ้าไทย มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายราชวัตถ์ ดอกพิกุล ดอกพะยอม

ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือเกาะยอ เป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังในทะเลสาบสงขลา ทำให้บนเกาะมีร้านอาหารชั้นดีมากมาย

[yframe url=’http://www.youtube.com/watch?v=W7bEiiZ4cZ0′]

ทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ในพื้นที่ระหว่างทิวเขานครศรีธรรมรา ทางด้านตะวันตก และอ่าวไทยทางด้านตะวันออก อยู่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา แบ่งออกได้เป็น 2 ตอนคือ

ทะเลหลวง เป็นตัวทะเลสาบสงขลาที่แท้จริง มีบริเวณกว้างใหญ่ มีความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร และกว้างสุดประมาณ 25 กิโลเมตร ตอนกลางเป็นตอนแคบ ๆ จากปากพะยูน ลงมาทางใต้ถึงแหลมจาก จึงแบ่งทะเลหลวงออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นทะเลสงขลา และส่วนที่เป็นทะเลหลวงพัทลุง ทะเลหลวงได้รับน้ำจากแควต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากทิวเขานครศรีธรรมราช เช่น คลองพระในเขตจังหวัดพัทลุง คลองพันทราย คลองป่าบน และคลองรัตภูมิ จากเขาสังเวียน คลองอู่ตะเภา จากทิวเขาชินาในทิวเขานครศรีธรรมราช กับเขาติงกีและเขากะท้อนในทิวเขาสันกาลาคีรี ทะเลหลวงมีช่องทางออกทะเลจีนที่ตำบลแหลมทราย ในเขตอำเภอเมืองสงขลา

ทะเลน้อย มีขนาดเล็กกว่าทะเลหลวง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองพัทลุง ทางด้านเหนือของทะเลหลวง ติดต่อกับทะเลหลวงใต้ ตามพื้นที่หล่มโคลนซึ่งกั้นอยู่ จากทะเลน้อยมีคลองควน คลองท่าเสม็ด และคลองปากพนัง ต่อขึ้นไปทางเหนือ ออกสู่อ่าวไทยในเขตอำเภอปากพนัง บริเวณสองฟากของคลองควน และคลองท่าเสม็ด เป็นบริเวณพื้นที่ลุ่มหล่ม ยาวจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ ยาวประมาณ 30 กิโลเมตร กว้างประมาณ 15กิโลเมตร

ทะเลสาบสงขลา สามารถใช้เรือขนาด 40-50 ตันเดินไปมาได้ และสามารถทะลุออกไปทางอำเภอปากพนังได้ด้วย

ขอเล่าประวัติสะพานติณสูลานนท์

สะพานแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 4146 เชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 407 สายหาดใหญ่-สงขลา กับทางหลวงหมายเลข 4083 สายสงขลา-ระโนด โดยสร้างเป็นสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จากฝั่งบ้านน้ำกระจายผ่านเกาะยอ ไปฝั่งเขาเขียว เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคมให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องรอข้ามแพขนานยนต์ บริเวณฝั่งหัวเขาแดง

สะพานแห่งนี้ แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรก เชื่อมระหว่างชายฝั่งอำเภอเมืองสงขลา บริเวณบ้านน้ำกระจาย กับชายฝั่งตอนใต้ของเกาะยอ ความยาวรวมเชิงสะพานทั้งสองด้าน ประมาณ 1,140 เมตร

ช่วงที่ 2 เชื่อมระหว่างฝั่งด้านเหนือของเกาะยอกับฝั่งบ้านเขาเขียว ความยาวทั้งสิ้นประมาณ 1,800 เมตร

สะพานติณสูลานนท์ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2527 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2529

อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ”สมเด็จเจ้าเกาะยอ” หนึ่งในคำขวัญของเกาะครับ

สมเด็จเจ้าเกาะยอ หรือพระราชมุนีเขากุด เป็นชาวบ้านพรุ อ.หาดใหญ่ ถือกำเนิดสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ ?ขาว? เพราะสมัยแรกเกิดที่ฝ่ามือด้านขวาของท่านเป็นรูปดอกบัวสีขาว เมื่ออายุ 20 ปี บิดานำไปฝากไว้กับสมภารอ่ำวัดต้นปาบ ต.บ้านพรุ ให้บวชเรียนจนสามารถจดจำคำขออุปสมบทได้หมด จึงได้อุปสมบท ณ วัดต้นปาบ

เมื่อศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ได้ร่ำลาสมภารอ่ำไปออกธุดงค์ และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสุวรรณคีรี ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา อยู่ 6 พรรษา ต่อจากนั้นเดินทางธุดงค์ไปจำพรรษาที่วัดบางโหนด บ้านบางลึก ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินธุดงค์ไปเมืองสทิงพระ (ปัจจุบันคืออ.สทิงพระ จ.สงขลา) และเป็นที่ที่ท่านได้พบกับสมเด็จเจ้าพะโคะ และได้สนทนาธรรมกันจนเป็นที่ชอบพออัธยาศัย

ในระหว่างการสนทนาธรรม สมเด็จเจ้าเกาะยอได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าหากท่านกับสมเด็จเจ้าพะโคะได้เคยสร้างบารมีร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ขอให้ท่านเห็นสมเด็จเจ้าพะโคะนั่งอยู่บนพรมสีแดง ปรากฏว่าท่านเห็นสมเด็จเจ้าพะโคะนั่งอยู่บนพรมสีแดงจริง

หลังจากนั้น สมเด็จเจ้าเกาะยอ และสมเด็จเจ้าพะโคะ ได้ออกเดินทางธุดงค์ไปด้วยกันจนไปพบสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ ได้สนทนาธรรมจนเป็นที่ชอบพอกันแล้ว สมเด็จเจ้าเกาะยอได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่เคยสร้างสมบารมีมาด้วยกันในชาติปางก่อน ขอให้ท่านเห็นเจ้าเกาะใหญ่ยืนอยู่บนพรมสีเหลือง ปรากฏว่าท่านก็ได้เห็นสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ยืนอยู่บนพรมสีเหลืองจริง ๆ เมื่อแยกย้ายกันกลับสมเด็จเจ้าเกาะยอได้ขึ้นฝั่งที่บ้านแหลมพ้อ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา ปักกลดจำพรรษาอยู่ที่นี่เป็นเวลา 7 เดือน จึงได้เดินทางไปเยี่ยมโยมบิดามารดาที่บ้านพรุ โดยจำพรรษาที่วัดต้นปาบ ระหว่างจำพรรษาท่านได้เหยียบรอยเท้าไว้ ต่อมาชาวบ้านได้เรียกชื่อวัดต้นปาบว่า ?วัดพระบาทบ้านพรุ? สมเด็จเจ้าเกาะยอเดินทางกลับเกาะยออีกครั้ง ครั้งนี้ได้ขึ้นไปปักกลดจำพรรษาอยู่บนภูเขาลูกหนึ่ง ในค่ำคืนหนึ่งขณะที่ท่านได้นั่งสมาธิอยู่นั้น เกิดนิมิตเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลอยลงมายังยอดเขา ตรัสทำนายว่า

“ต่อไปบนยอดเขาแห่งนี้จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตถาคตเจ้าขอให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี้ และให้สร้างรูปเหมือนจำลองตถาคตประดิษฐานไว้บนยอดเขาลูกนี้ด้วย และให้ทำพิธีสักการะบูชาในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปี ให้ตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่า ?เขากุด?

หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าเกาะยอได้สรางพระพุทธรูปจำลองแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บนยอดเขา ท่านได้จำพรรษาอยู่บนยอดเขาเป็นเวลานาน ได้ช่วยเหลือชาติบ้านเมืองและประชาชนบริเวณเกาะยอให้ความเคารพบูชามาก สมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงเห็นว่า สมเด็จเจ้าเกาะยอเป็นผู้มีบุญญาธิการสูง จึงได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสมณศักดิ์ที่พระราชมุนีเขากุด ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ?สมเด็จเจ้าเกาะยอ? หรือ ?สมเด็จเจ้าเขากุด? เมื่อมรณภาพแล้วชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างสถูปเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนเก็บอัฐิธาตุของท่านไว้บนยอดเขากุด ในบริเวณที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำลอง ปรากฏหลักฐานอยู่จนถึงทุกวันนี้ (ปัจจุบัน เรียกชื่อว่าเขากุฎ)

ส่วนสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ เป็นชาวบ้านทองบัว เมืองปัตตานี (ปัจจุบันอยู่ในเขตต.บางลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส) สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกิดสงครามในเมือง สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่และพี่น้องได้อพยพจากปัตตานีลงเรือสู่เมืองสงขลา ผ่านเขาแดง เขาเขียว เกาะยอ บ้านป่าขาด และล่องเรือเข้าไปในทะเลสาบสงขลาตอนใน ผ่านเกาะราบ เกาะกระ เกาะสี่เกาะห้า จนถึงเกาะใหญ่ เห็นว่าเกาะใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้นำเรือเข้าจอดและจมเรือสองลำที่นำมาไว้ที่อ่าวท้องบัว ชาวบ้านที่มาด้วยกันได้ช่วยกันตั้งบ้านให้ชื่อว่า ?บ้านท้องนำ? (ปัจจุบันคือ ?บ้านทุ่งบัว? อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา)

สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้สำรวจพื้นที่เพื่อตั้งวัด พบสถานที่แห่งหนึ่งเป็นเนินสูง จึงได้สร้างวัดขึ้น และก่อกำแพงหินลดหลั่นกัน 7 ชั้น ให้ชื่อว่า ?วัดสูงเกาะใหญ่? เมื่อแรกสร้างอุโบสถสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่นั่งสมาธิใช้พลังจิตยกก้อนหินขนาดใหญ่ไปวางเรียงไว้อย่างมีระเบียบ วิชาอย่างนี้เรียกกันว่า ?พลังเสือ? เมื่อสร้างวัดเสร็จสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่บ้านท้องนำ ได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งให้ชื่อว่า ?วัดสูงทุ่งบัว? ทำให้ชาวบ้านบริเวณนี้ให้ความเคารพนับถือมาก จึงเรียกกันว่า ?สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่? ชาวบ้านเล่ากันต่อ ๆ มาว่า สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่เป็นเพื่อนเกลอกับสมเด็จเจ้าเกาะยอ และสมเด็จเจ้าพะโคะ

หลังจากสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่มรณภาพ ความเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงอยู่ยาวนานจนถึงปัจจุบัน

มารู้จักของดีเกาะยอ…ตามคำขวัญ
“สมเด็จเจ้าเกาะยอ” มีเจดีย์สมเด็จเจ้าเกาะยอตั้งอยู่บน ยอดเขาที่สูงที่สุดในเกาะยอ คือเขากุฏ ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี ชาวเกาะยอ ทั้งใกล้และไกลจะขึ้นไปทำบุญตักบาตรและเปลี่ยนผ้าห่มเจดีย์ เรียกว่างานประเพณี “ขึ้นเขากุฏ”

“ผ้าทอดีล้ำค้า” ผ้าทอมือของชาวเกาะยอ ถือเป็นงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงและทำให้ตำบลเกาะยอเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ชาวเกาะยอเริ่มทอผ้ากันตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏชัดแต่มีหลักฐานที่เชื่อกันว่าคงจะเริ่มกันในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผ้าทอมือของเกาะยอเป็นที่รู้จักกันดียิ่งขึ้น เมื่อทูลเกล้าฯ ถวายผ้า ยกก้านแย่ง แด่พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 ในปีพ.ศ.2475 และพระองค์พระราชทานนามลายผ้าที่ถวายนั้นว่า ผ้าลายราชวัตร

“นานาผลไม้หวาน” เนื่องจากทำเลที่ตั้งที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง ทำให้ตำบลเกาะยอมีสภาพอากาสที่เหมาะสมกับกับเจริญเติบโตของพืชผลนานาชนิด ทำให้คนเกาะยอและผู้มาเยือนมีผลไม้ให้ทานได้ตลอดทั้งปี มีทั้งเงาะ ทุเรียน รางสาด มังคุด ขนุน กระท้อน และผลไม้ที่ขึ้นชื่อคือ จำปาดะ แต่ปัจจุบันต้นจำปาดะล้มหายลงเรื่อยๆ โดยยังไม่ทราบสาเหตุ

“ถิ่นอาหารทะเล” ด้วยทิวทัศน์รอบเกาะที่งดงาม ประกอบกับความอร่อยอย่างวิเศษของ ปลากระพงขาว ที่ชาวเกาะยอเลี้ยงอยู่รายรอบเกาะยอ ส่งผลให้เกาะยอเป็นแหล่งรับประทานอาหารทะเล ของชาวสงขลาและนักท่องเที่ยวทั่วไป ปลากระพงขาว เป็นเมนูหลักของร้านอาหารทุกร้านที่เกาะยอ และมีการเลี้ยงมากที่สุดที่เกาะยอ เนื่องจากปลาที่เลี้ยงรอบเกาะยอ เนื้อจะนิ่ม เป็นที่นิยมของนักกินตัวยงทั้งหลาย…

“เสน่ห์สะพานติณฯ” สะพานติณสูลานนท์ หรือ สะพานป๋าเปรม ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อท่าน รัฐบุรุษและประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีชาวสงขลา เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย แบ่งสะพานเป็น 2 ช่วง ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2529 สะพานได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนเกาะยออย่างมากมายทั้งด้านบวกและลบ

“สถาบันทักษิณคดีศึกษา” เป็นหน่วยงานราชการที่มีฐานะเท่ากับคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยทักษิณ ตั้งอยู่ที่บ้านอ่าวทราย หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีภาระหน้าที่ ในด้าน การศึกษา ค้นคว้าอนุรักษ์ ส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ โดยมุ่งเน้น ในส่วนของภาคใต้โดยเฉพาะ

“งดงามเรือนทรงไทย” อาคารบ้านเรือนของคนเกาะยอ ในสมัยก่อนเป็นลักษณะอาคารบ้านทรงไทย มีความงดงามและและมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากเรือนไทยท้องถิ่นอื่น มี”ตีนเสา” ยกสูงจากพื้นดิน

ไปสงขลาครั้งหน้า แวะไปเที่ยวเกาะยอกันนะครับ
โดย?ลูกเสือหมายเลข9